วิธีการปฐมพยาบาล ข้อเท้าแพลง ทำอย่างไรให้ถูกวิธี ไม่ปวดเรื้อรัง ?

ข้อเท้าแพลง

                อาการข้อเท้าแพลงเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอุบัติเหตุจากการเดิน อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรืออื่น ๆ ทำให้ข้อเท้ามีอาการอักเสบ บางรายหายเองได้แต่บางรายอาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แต่จะทราบได้อย่างไรว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นมีความรุนแรงอยู่ในระดับใด เราจึงมีวิธีการสังเกตอาการข้อเท้าแพลงและวิธีปฐมพยาบาลมาบอกกัน

วิธีการสังเกตอาการเมื่อข้อเท้าแพลง ปวดระดับใดที่ควรไปพบแพทย์

  • สังเกตจากระดับความปวด หลังจากเกิดอาการข้อเท้าแพลงแล้วมีอาการปวดอยู่ในระดับใด ปวดน้อย  ปานกลาง หรือปวดมาก หากปวดไม่มากรักษาโดยการปฐมพยาบาล ทายานวด หรือทานยา อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงใน 1 – 2 เดือน แต่หากปวดมากและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์
  • สังเกตจากความบวมแดง ข้อเท้าแพลงเกิดจากเอ็นหรือเนื้อเยื่อที่บริเวณรอบข้อเท้าเกิดการอักเสบ ทำให้มีอาการบวมแดง หากอักเสบมากจะบวมมาก หากบวมมากผิดปกติควรไปพบแพทย์
  • สังเกตจากการลงน้ำหนัก หากลองลงน้ำหนักด้วยการเดินแล้วแต่ปวดมากจนไม่สามารถลงน้ำหนักได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุหรือฉายรังสีเพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะโดยทั่วไปแล้วหากข้อเท้าแพลงในระดับที่ไม่รุนแรงมากจะยังสามารถลงน้ำหนักที่เท้าได้อยู่

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อข้อเท้าแพลง

  • ตรวจดูระดับความรุนแรงของอาการข้อเท้าแพลง เบื้องต้นควรนั่งนิ่ง ๆ เพื่อประเมินอาการปวดอักเสบก่อนว่ารุนแรงระดับไหน หากรุนแรงมาก มีอาการปวด บวมแดง และไม่สามารถลงน้ำหนักได้ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นและไปพบแพทย์
  • ประคบเย็น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นจัดหรือนำไปห่อน้ำแข็งแล้วนำไปประคบเย็นในบริเวณที่ปวดอักเสบประมาณ 10 – 15 นาทีทุก 2 ชั่วโมงโดยกดน้ำหนักลงเล็กน้อย เพื่อให้เส้นเลือดหดตัวและลดการอักเสบบวมแดงลง
  • ใช้ผ้าพันบริเวณที่ปวด ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อเท้าในบริเวณที่ปวดเพื่อช่วยลดอาการบวม ระวังไม่ควรพันแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดอักเสบมากกว่าเดิม
  • นอนยกขาสูงเหนือศีรษะ เพราะหากวางขาในแนวต่ำจะทำให้ปวดอักเสบได้ง่าย ควรใช้หมอนรองขาให้สูงระดับที่เหนือศีรษะ
  • เดินหรือขยับข้อเท้าให้น้อยที่สุด เพื่อช่วยลดการอักเสบ เพราะหากเดินมากเกินไปจะทำให้ข้อเท้าอักเสบเพิ่มขึ้น

                อาการข้อเท้าแพลงแม้จะเป็นอาการที่ไม่ได้รุนแรงมากและสามารถหายเองได้ แต่หากปล่อยไว้หรือมีการปฐมพยาบาลแบบผิด ๆ ก็ทำให้ข้อเท้าอักเสบและอาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ ทางที่ดีควรรีบตรวจสอบดูอาการและเลือกรักษาอย่างถูกวิธีจะดีกว่า เพื่อให้ข้อเท้าของคุณกลับมาใช้งานได้ตามปกติเร็วขึ้นและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย